“พวกเราติดนิสัยว่าอยากกินเบียร์สักกระป๋องก็เข้าเซเว่น ไม่ใช่ไง มาลองเอาประสบการณ์ดื่มเบียร์ในบาร์ มานั่งกินเบียร์สด ได้เพิ่ม social capital (ทุนทางสังคม) ได้แลกเปลี่ยนไอเดีย”

สายสัมพันธ์ทางสังคมผ่านน้ำสีเหลืองมีฟอง คือเรื่องที่ ‘วิชิต ซ้ายเกล้า’ หรือ ‘พี่ชิต’ ตัวพ่อของแวดวงคราฟต์เบียร์ หรือที่คอดื่มหลายคนรู้จักในฐานะ เจ้าของ CHIT BEER คราฟต์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด พยายามบ่มให้ได้ที่ ควบคู่ไปกับต้มเบียร์ดีๆ สักตัว

อย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับ จนยากจะปฏิเสธเพราะมีตัวเลขทางสถิติเป็นที่ยืนยัน ว่าคนไทยดื่มเบียร์ (ขวด 330 มล.) เฉลี่ย 142 ขวดต่อคนต่อปี จนยืนหนึ่งในแถบเอเชีย แซงหน้าเกาหลีใต้ที่มีภาพจำคอทองแดงให้เห็นตามซีรีส์ ตามการจัดทำของ Expensivity ในปี 2564

ด้วยติดเหตุผลเรื่องเวลา จึงทำให้บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงแก้วกระทบกัน ก่อนที่เครื่องดื่มเย็นๆ จะไหลลงคออย่างที่จินตนาการไว้แต่ต้น

แต่น้ำเสียงที่ถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดระหว่างพูดคุยกับ The MATTER  ก็สามารถอธิบายถ่ายทอดเรื่องราวของนักต้มเบียร์ รวมถึงความเห็นต่อข้อจำกัดทางกฎหมาย และความคิดที่ทำให้ ‘ความเมา’ ของผู้คนยังเป็นเรื่องจำกัด ได้อย่างน่าตื่นเต้นเหมือนได้นั่งคุยอยู่ในวงล้อมสังสรรค์หลังเลิกงาน

กำลังที่อ่อนแรงลงของไทยเมืองพุทธ

ล้อไปกับข้อมูลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี พ.ศ. 2563 พบว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีมูลค่า 1.67 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมเครื่องดื่มทุกชนิด 4.45 แสนล้านบาท และตลาดใหญ่ก็ถือครองโดยเบียร์ยักษ์ใหญ่

นั่นเป็นหนึ่งภาพสะท้อนความฮิตของเครื่องดื่มชนิดนี้ ที่ครองใจคนทั่วโลก ไทยเองก็มีให้เห็นแทบทุกเทศกาล แต่คงต้องเว้นบรรดาวันพระใหญ่เอาไว้ ด้วยข้อกำหนดทางกฎหมาย

ทำไมห้ามขายเหล้าวันพระ? น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยสงสัย หรืออาจต้องคอยตอบคำถาม โดยเฉพาะกับเพื่อนต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจน มีเพียงการหยิบยกมาเทียบเคียงหลักคำสอน และบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามด้วย กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพิ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2552 ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี่เอง จึงยิ่งทำให้มายาคติที่มีต่อพฤติกรรมการดื่ม โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการขับขี่ฝังรากลึกต่อเนื่อง

“ความเป็นเมืองพุทธ พละกำลังก็น่าจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ” เป็นความเห็นแรกของวิชิต เมื่อเราเปิดบทสนทนาถึงกับดักไทยเมืองพุทธ ว่ายังคงส่งผลต่อการปลดล็อกทั้งในเชิงการดื่ม และผลิตแอลกอฮอล์อีกหรือไม่

กว่าจะมาเป็นนักต้มเบียร์ชั้นครูอย่างทุกวันนี้ วิชิตลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เพียงต้องท้าทายกับความไม่คุ้นลิ้นของคนไทย ที่หลายปีก่อนยังคงมองว่าเบียร์ต้มเองให้รสชาติต่างจากความเคยชิน จึงยังคงโหยหาตราบนขวด

อีกความท้าทายที่ต้องพิสูจน์ไปพร้อมกัน คือ การไม่คุ้นใจของคนไทย ที่มองว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของคนวงจำกัด นั่นทำให้เขาต้องต้มทั้งเบียร์ต้มทั้งคนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่สัมผัสได้ถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่พยายามสื่อสาร  “อยู่ดีๆ วันหนึ่งเพื่อนชมว่าอร่อย”

“ยิ่งวันเวลาผ่านไป เจเนอเรชั่นที่ตามมามันก็ไม่ซีเรียสขนาดนั้น ไม่ใช่รุ่นพ่อแม่ baby boomer ที่มีความตอแหลเหลืออยู่”

ตามความเห็นของวิชิต มองว่า ไม่ว่าต่อไปคนจะเปิดกว้างกับการดื่มไปเพิ่มขึ้นแค่ไหน ก็เลี่ยงเรื่องดราม่าไม่ได้อยู่ดี ในทุกครั้งที่มีการขยับตัวเกี่ยวกับเหล้าเบียร์ ไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือทางสังคม “เราไม่จำเป็นต้องรอให้คนคิดเหมือนกัน โลกนี้บางทีเปลี่ยนแค่ด้วยคน 2-3 คน ประเทศนี้แม่งบางครั้ง เปลี่ยนด้วยคน 10 คน 100 คนเอง”

“กับดักกฎหมายใหญ่กว่ามาก เพราะกับดักเมืองพุทธ มันก็มีแต่คนเห่าทั่วไป ถูกปะ มันไม่มีบทลงโทษ มันเป็นเรื่องความคิด ทัศนคติ”

https://thematter.co/social/craft-beer-wichit-saiklao/172384